นักดาราศาสตร์ เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด

เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด



 
เอดวาร์ด อีเมอร์สัน บาร์นาร์ด หรือ อี. อี. บาร์นาร์ด เป็นนักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักสังเกตการณ์ที่เด่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ ว่ากันว่าเขาดูดาวเก่งและขยันไม่แพ้วิลเลียม เฮอร์เชล ผู้ค้นพบดาวยูเรนัสเลยทีเดียว อี. อี. บาร์นาร์ดเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1857 ในครอบครัวยากจนแห่งเมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี ความยากจนทำให้เขาต้องอดมื้อกินมื้ออยู่เสมอ

เพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก หนูน้อยบาร์นาร์ดมักชอบนอนดูดาวในค่ำคืนอันอบอุ่น พิจารณาฟากฟ้าอย่างละเอียด เอาดาวเป็นเพื่อนโดยไม่มีความรู้ทางดาราศาสตร์เลยแม้แต่นิดเดียว ในขณะนั้นเขาไม่มีทางรู้เลยว่าเพื่อนของเขาที่เจิดจรัสอยู่กลางฟ้าในฤดูร้อนมีชื่อว่าวีกา เขาจำดาวในท้องฟ้าได้มากมาย และไม่นานก็สังเกตเห็นว่าดาวบางดวงย้ายที่ไปในท่ามกลางหมู่ดาวทั้งหลาย โดยไม่รู้อีกเช่นกันว่าดาวเหล่านั้นเรียกว่าดาวเคราะห์

เมื่อหนูน้อยบาร์นาร์ดอายุได้ 8 ขวบ เขาได้เข้าทำงานในร้านถ่ายรูปของแวน สตาวอเรน งานของเขาคือการคอยโยกกล้องจูปิเตอร์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาให้รับแสงดวงอาทิตย์โดยตรงตลอดเวลา เพื่อช่างภาพจะได้ใช้แสงนี้อัดรูปจากแผ่นเนกาทิฟ ถ้าเป็นเด็กคนอื่นคงไม่มีใครยอมทำงานแบบนี้ หรือถ้าทำก็คงทิ้งงานหลังจากตามดวงอาทิตย์ไปได้ไม่เท่าไร แต่บาร์นาร์ดกลับสนใจเรื่องตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ซึ่งบางวันขึ้นสู่จุดสูงสุดตอนเที่ยงวัน แต่บางวันขึ้นสูงสุดก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง บางทียังก่อนหรือหลังได้นานหลายนาที

บาร์นาร์ดได้เรียนรู้เมื่อหลายปีให้หลังว่าสิ่งที่เขาค้นพบ แต่ไม่รู้ว่าอะไร คือสมการเวลา ซึ่งเป็นค่าความต่างระหว่างเวลาสุริยคติเฉลี่ยกับเวลาสุริยคติปรากฏ เป็นผลจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีและแกนหมุนของโลกที่ทำมุมเอียงกับระนาบสุริยวิถี (มีค่าเป็นศูนย์ได้ 4 ครั้งในรอบปี คือ วันที่ 15 เมษายน 14 มิถุนายน 1 กันยายน และ 25 ธันวาคม สมการเวลาจะมีค่าต่างกันไม่เกิน 16 นาที)

ตอนค่ำหลังเลิกงาน บาร์นาร์ดต้องเดินกลับบ้านเป็นระยะทางไกล เขาเอาดาวไม่ประจำที่ดวงสว่างสีเหลืองดวงหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมทาง ไม่มีใครบอกเขาว่าดาวดวงนั้นชื่อดาวเสาร์

บาร์นาร์ดทำงานอยู่ในร้านถ่ายรูปอยู่นานถึง 17 ปี มีความรู้ทางทัศนศาสตร์ที่ใช้งานได้ ระหว่างนั้นเขาสร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นใช้เอง กระบอกกล้องทำจากกล้องส่องทางไกลจากเรือเก่าๆ ลำหนึ่ง เลนส์ใกล้ตาถอดมาจากซากกล้องจุลทรรศน์ ส่วนขาตั้งก็ใช้ขาตั้งสำรวจ เขาส่องกล้องดูดาวบนฟ้าครั้งละหลายชั่วโมง เป้าหมายที่ชอบเป็นพิเศษคือดาวพฤหัสบดี

อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนที่จนพอๆกันมาขอยืมเงิน 2 เหรียญจากบาร์นาร์ด โดยทิ้งหนังสือเป็นจำนำไว้เล่มหนึ่ง บาร์นาร์ดทราบดีว่าไม่มีทางจะได้เงินคืน และโกรธมาก เพราะเงิน 2 เหรียญนับว่าเป็นจำนวนมากสำหรับเขาในตอนนั้น หลังจากรอเพื่อนอยู่นาน เขาก็ตัดสินใจยึดหนังสือเล่มนั้น พอเขาเปิดหนังสือ จึงพบว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นตำราดาราศาสตร์

แผนที่ฟ้าในหนังสือเป็นแผนที่ฟ้าแผ่นแรกที่บาร์นาร์ดเคยเห็น เขารีบเอาแผนที่ไปยืนริมหน้าต่าง ดูแผนที่เทียบกับดาวในท้องฟ้าที่เขาคุ้นเคยเป็นอย่างดี และไม่ถึงชั่วโมงเขาก็ทราบว่าผองเพื่อนเก่าแต่เยาว์วัยของเขาล้วนมีชื่อเรียก ทั้งดาวเวกา ทั้งกลุ่มดาวหงส์ ทั้งดาวตานกอินทรี นับเป็นก้าวแรกเข้าสู่โลกดาราศาสตร์อย่างเป็นทางการของบาร์นาร์ด

บาร์นาร์ดอ่านหนังสือเพิ่มเติมอีกมาก รวมทั้งจ้างครูสอนคณิตศาสตร์มาสอนเขาเป็นพิเศษ จนในที่สุดเขาสำเร็จปริญญาตรีทางคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ และทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั่นเอง


กล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด 36 นิ้วที่หอดูดาวลิก
ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Lick_Observatory

จนเมื่อหอดูดาวลิก ใกล้เมืองซานโฮเซ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างใกล้จะเสร็จ ใน ค.ศ. 1887 บาร์นาร์ดไปปรากฏตัวที่นั่น แจ้งว่าเขาได้ลาออกจากงานที่มหาวิทยาลัยแล้ว ขายบ้านที่แนชวิลไปแล้วด้วย และขอทำงานที่หอดูดาวลิก ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น (ปัจจุบันใหญ่เป็นที่สอง) โดยไม่จำเป็นต้องมีค่าตอบแทนอะไรเลย ขอเพียงให้ได้สังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์เท่านั้น

บาร์นาร์ดเป็นคนตาดีมาก ช่างสังเกต และขยันขันแข็งในงานที่เขารัก ผู้ร่วมงานต่างพากันออกปากว่าไม่เคยเห็นเขาไปนอนเลยสักครั้งเดียว และความรู้วิชาถ่ายภาพของเขาก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในยุคที่การถ่ายภาพเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการดาราศาสตร์ใหม่ๆ ต่อมาเมื่อปี ค.ศ. 1895 เขาเกิดขัดแย้งกับผู้บริหารหอดูดาวในหลายเรื่อง จึงย้ายจากหอดูดาวลิกไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชิคาโก ประจำอยู่ที่หอดูดาวเยอร์คีส์ที่สร้างขึ้นใหม่ใกล้เมืองชิคาโก แต่อยู่ในมลรัฐวิสคอนซิน ซึ่งมีกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผลงานทางดาราศาสตร์ของบาร์นาร์ดมีอยู่มากมาย ตลอดชีวิตเขาเขียนบทความวิชาการออกมาถึงกว่า 900 ฉบับ เขาเป็นผู้ค้นพบดวงจันทร์อะมัลเทีย บริวารดวงที่ห้าของดาวพฤหัสบดี (หลังจากสี่ดวงแรกถูกกาลิเลโอค้นพบ และเป็นดวงสุดท้ายที่ถูกค้นพบด้วยการสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์โดยตรง) และมองเห็นลวดลายบนดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดีซึ่งต้องรออีกเกือบหนึ่งศตวรรษ ยานวอยเอเจอร์จึงสามารถยืนยันสิ่งที่เขามองเห็นได้ งานของเขาครอบคลุมการสังเกตดาวเคราะห์ ดาวหาง เนบิวลา และทฤษฎีที่ถูกต้องเกี่ยวกับโนวา รวมทั้งการค้นพบดาวบาร์นาร์ดเมื่อปี ค.ศ. 1916

งานสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของบาร์นาร์ดคือการถ่ายภาพมุมกว้างดาราจักรทางช้างเผือกเพื่อการศึกษาโครงสร้างดาราจักรอย่างเป็นระบบ ผลงานภาพถ่ายที่ยิ่งใหญ่ของเขาถูกรวบรวมอยู่ในหนังสือที่จัดพิมพ์ออกมาภายหลังมรณกรรมของเขา นอกจากนั้นเขายังค้นพบว่าแถบสีดำในอวกาศส่วนหนึ่งคือเมฆแก๊สและฝุ่น ไม่ใช่ช่องว่างในอวกาศอย่างที่เคยเข้าใจกันมาแต่ก่อน และจัดทำบัญชีเมฆดำในอวกาศทำนองเดียวกับบัญชีเมซีเย

บาร์นาร์ดทำงานที่หอดูดาวเยอร์คีส์จนถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1923

เอกสารอ้างอิง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น