นักดาราศาสตร์ ทิโค บราห์

ทิโค บราห์



ทิโค บราห์ นักดาราศาตร์ชาวเดนมาร์ก ได้สร้างผลงานทางดาราศาสตร์ไว้มากมาย โดยเฉพาะบันทึกตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าที่ทิโคได้บันทึกไว้ร่วม 40 ปี ซึ่งบันทึกดังกล่าวเปรียบเสมือนมรดกอันล้ำค่าที่โยฮันเนส เคปเลอร์ (ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยของทิโค) ได้ครอบครองหลังจากทิโคได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันและเป็นการเสียชีวิตที่เป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันว่าเป็นการฆาตกรรมหรือการเสียชีวิตอย่างกระทันหัน รวมไปถึงข้อสงสัยที่ว่าเคปเลอร์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทิโคหรือไม่

บันทึกของทิโคได้ระบุตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าไว้ถึง 777 ดวง และมีความแม่นยำที่สูงมากในยุคสมัยนั้นซึ่งยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ โดยที่ทิโคเองได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดจำนวนหลายชิ้น รวมทั้งสร้างหอดูดาวยูเรนิเบิร์กอันโด่งดังเพื่อให้การสังเกตการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้ามีความถูกต้องสูง ซึ่งในเวลาต่อมาหลังจากที่เคปเลอร์ได้ครอบครองบันทึกดังกล่าว เคปเลอร์ได้ใช้ข้อมูลจากบันทึกของทิโคมาสร้างกฎ 3 ข้อที่ว่าด้วยการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ (Kepler's three laws of planetary motion) ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานที่สำคัญทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศ

ในยุคของทิโค บราห์นั้น เป็นที่ยอมรับว่า ทิโค บราห์เป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด กระทั่งเคปเลอร์เองก็ทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยของทิโค อย่างไรก็ตาม แบบจำลองจักรวาลของทิโคกลับมีข้อผิดพลาดและไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เราทราบกันในปัจจุบัน โดยแบบจำลองดังกล่าวผสมผสานระหว่างแบบจำลองของโคเปอร์นิคัสและของปโตเลมี

วัยเยาว์ของทิโค
ทิโค บราห์ เกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่มีฐานะดีในปี 1546 หลังจากโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลง 3 ปี บิดาของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงในราชสำนักของกษัตริย์เดนมาร์ก ส่วนมารดาของทิโคก็สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชั้นนำของเดนมาร์ก ครอบครัวของทิโคมีบุตร 4 คน โดยเป็นหญิง 2 คน ส่วนทิโคและน้องชายเป็นฝาแฝด แฝดผู้น้องของ ทิโคได้เสียชีวิตลงหลังจากที่ได้กำเนิดไม่นาน

ในวัยเยาว์ของทิโค ครอบครัวลุงของทิโคดำรงตำแหน่งขุนนางชั้นสูงและมีฐานะดีแต่ไม่มีบุตร จึงได้ขอทิโคไปเลี้ยงดูตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ในปี 1559 ซึ่งทิโคอายุเพียง 12 ขวบได้เข้ารับการศึกษาด้านกฎหมายตามความประสงค์ของลุงที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน นอกจากวิชาด้านกฎหมายแล้ว ทิโคยังได้สนใจศาสตร์ด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดสุริยปราคราขึ้นเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1960 โดยปรากฎการณ์ดังกล่าวได้มีผู้คำนวณและทำนายไว้ล่วงหน้า ซึ่งการทำนายว่าจะเกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวได้สร้างความประทับใจและสร้างแรงกระตุ้นให้แก่ทิโคทำการศึกษาและค้นคว้าในเรื่องดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

ศึกษาดาราศาสตร์และการค้นพบครั้งแรกของทิโค
ในปี 1962 ลุงของทิโคส่งเสริมให้ทิโคได้มีประสบการณ์ในการศึกษา ณ ต่างประเทศ โดยทิโคได้เข้ารับการศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยไลป์ซิก (Leipzig) ทางด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยวิชาดาราศาสตร์ไม่ได้เป็นวิชาที่ทิโคจะต้องศึกษาอย่างเป็นทางการ แต่ทิโคได้เริ่มสังเกตและทำบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยทิโคได้ตระหนักว่าความสำเร็จในขบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์ที่เขากำลังศึกษาค้นคว้าอยู่นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้โดยความบังเอิญของผู้ค้นคว้า แต่การสังเกตดวงดาวอย่างมีระบบที่ใช้ระเบียบวินัยสูงนั้นก็น่าจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ดังนั้นทุกๆ คืนทิโคได้ทำการสังเกตและบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้า โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีความแม่นยำที่พอจะหาได้ในยุคนั้น จากการใช้เครื่องมือวัดดังกล่าว ทิโคได้ตระหนักถึงขีดจำกัดของเครื่องมือวัดที่เขาซื้อมาใช้ ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงความแม่นยำสูงสุด ทิโคได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดขึ้นใช้เองโดยมีความแม่นยำที่สูงกว่าเครื่องมือวัดที่จัดซื้อมาใช้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของดาราศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า ทิโคเป็นนักดาราศาสตร์ที่สำคัญและเป็นคนสุดท้ายที่สร้างผลงานโดยไม่ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ (กล้องโทรทรรศน์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในห้วงเวลาต่อมาโดยกาลิเลโอ)

หลังจากการสังเกตและบันทึกทางดาราศาสตร์เป็นเวลาอย่างต่อเนื่องทุกคืน ในเดือนสิงหาคม 1563 ทิโคได้พบปรากฎการณ์ที่สำคัญซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของทิโค โดยทิโคสังเกตพบว่าดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ โคจรมาซ้อนอยู่ในแนวเดียวกัน ซึ่งบันทึกดังกล่าวมีความสำคัญมากต่อการพิสูจน์ผลงานของทิโคในห้วงเวลาต่อมา โดยจากการตรวจสอบอย่างละเอียด ทิโคพบว่าตารางดาวของโคเปอร์นิคัสยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่และทิโคได้ทำการแก้ไข ให้ถูกต้อง



ค้นพบดาวดวงใหม่ !!! (ซูเปอร์โนวา)
ทิโคเดินทางกลับสู่เดนมาร์กในปี 1565 และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ลุงของทิโคได้เสียชีวิตลงในขณะอารักขากษัตริย์ และต่อมาบิดาของทิโคได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการที่ปราสาทเฮลซิงเบิร์ก ต่อมาในปี 1567 ทิโคได้เดินทางอีกครั้ง เพื่อดูงานและหาประสบการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยต่างๆในเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ จนกระทั่งปลายปี 1570 ทิโคได้เดินทางกลับสู่บ้านเกิดอีกครั้ง และในช่วงกลางปี 1571 บิดาของทิโคได้เสียชีวิตลง และด้วยความสนับสนุนของลุงทางฝ่ายมารดา ทิโคได้สร้างหอดูดาวขึ้นที่โบสถ์แห่งเมืองเฮอลีวัด เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์

ที่หอดูดาวแห่งนี้ ทิโคได้ค้นพบดาวดวงใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1572 โดยที่ดาวดวงดังกล่าวมีแสงสว่างสุกใสมากกว่าดาวศุกร์ และดาวดวงอื่นๆ ทิโคได้เฝ้าสังเกตดาวดวงนี้ในเวลากลางคืนเป็นเวลาถึง 18 เดือนเต็ม ซึ่งทำให้ทิโคได้ตระหนักว่าสิ่งที่เขาค้นพบนั้นขัดแย้งกับคำสอนของอริสโตเติล ทิโคได้รวบรวมผลจากการสังเกตและทดลองของเขา พร้อมกับเรียบเรียงขึ้นเป็นหนังสือที่ชื่อว่า De Stella Nova (Concerning the New Star) ซึ่งมีการจัดพิมพ์ขึ้นในปี 1573 ที่โคเปนไฮเกน (ในปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าดาวที่ทิโคค้นพบในปี 1572 นั้น เป็นซูเปอร์โนวา ที่ไกลห่างจากโลก 7500 ปีแสง) ผลจากการค้นพบดังกล่าว ทำให้ทิโคตัดสินใจเลือกอาชีพเป็นนักดาราศาสตร์อย่างเต็มตัว



ยูเรนิเบิร์ก หอดูดาวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น
ปลายปี 1574 ทิโคได้รับเชิญให้ไปสอนวิชาดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคเปนไฮเกน แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนทิโคก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะไปสอนอีก โดยทิโคได้เดินทางเยี่ยมชมและหาประสบการณ์ด้านหอดูดาว ณ ประเทศเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหาสถานที่เพื่อตั้งรกรากและทำงานด้านดาราศาสตร์ หลังจากเยี่ยมชมหลายสถานที่แล้ว ทิโคได้เดินทางกลับไปยังเดนมาร์กเมื่อปลายปี 1575 โดยได้ตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายครอบครัวออกจากเดนมาร์กเพื่อไปตั้งรกรากที่เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 (Frederick II) กษัตริย์แห่งเดนมาร์กทราบเรื่องดังกล่าว และไม่อยากสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงไป จึงได้ยื่นข้อเสนอที่จะสร้างหอดูดาวที่โคเปนไฮเกนเพื่อที่ทิโคจะได้อยู่ในเดนมาร์กต่อไป



แต่ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่จูงใจทิโคมากนัก ทำให้พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 ทรงมีข้อเสนอใหม่ที่จูงใจทิโคเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือ ทรงเสนอพระราชทานเกาะเล็กแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า เกาะ Ven (หรือ Hven) ซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลบริเวณช่องแคบซาวน์ (ช่องแคบระหว่างทะเลบอลติคกับทะเลเหนือ) โดยอยู่ระหว่างโคเปนเฮเกนกับเมืองเฮลซิงเกอร์ นอกจากนี้ พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 ยังได้พระราชทานเงิน 20,000 ปอนด์ เพื่อให้ทิโคสร้างหอดูดาวและห้องปฏิบัติการขึ้นที่เกาะดังกล่าว โดยทิโคได้สร้างหอดูดาวที่ถือได้ว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้น และตั้งชื่อว่า "ยูเรนิเบิร์ก" (Uraniborg) หรือปราสาทแห่งสวรรค์ (Castle of the Heavens) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ยูเรเนีย" (Urania)

หอดูดาวยูเรนิเบิร์กถูกสร้างอย่างทันสมัยมาก มีห้องพัก หอคอยสำหรับดูดาว ห้องปฏิบัติการ ห้องสำหรับพิมพ์หนังสือ อุปกรณ์ทุกอย่างได้ถูกเลือกสรรอย่างดีที่สุด ทิโคพยายามสร้างหอดูดาวแห่งนี้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสมัยนั้น นับเป็นหอดูดาวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนั้น และมีผู้ที่มีชื่อเสียงหลั่งไหลเข้าไปชมกันมากมาย รวมทั้งดึงดูดให้นักดาราศาสตร์ชั้นนำหลายคนเข้าร่วมทำงานกับทิโค

เหตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญในระหว่างที่ทิโคทำการสังเกตดวงดาวที่หอดูดาวยูเรนิเบิร์กเกิดขึ้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 1577 โดยเกิดดาวหางปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า และทิโคตีพิมพ์สังเกตการณ์ดาวหางดังกล่าวใน De mundi aetherei recentioribus phaenomenis (ปี 1588) จากข้อมูลการวัดที่ทิโคได้บันทึกไว้แสดงให้เห็นว่าแบบจำลองที่อธิบายโดยอริสโตเติลมีข้อผิดพลาด



ในปี 1584 หอยูเรนิเบิร์กดูเหมือนจะคับแคบที่จะบรรจุเครื่องมือใหม่ๆที่ได้สร้างขึ้น ทิโคได้สร้างหอดูดาวแห่งที่สองที่อยูถัดไปจากยูเรนิเบิร์ก โดยตั้งชื่อว่า เซนต์เจอนีเบิร์ก (Stjerneborg) โดยในห้วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่าทิโคเป็นผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องมือการวัดที่สำคัญทางดาราศาสตร์จำนวนหลายชิ้น

ทิโคทำงานค้นคว้าทางดาราศาสตร์อยู่ที่ยูเรนิเบิร์กเป็นเวลาร่วม 20 ปี ทำให้เขาได้รวบรวมบันทึกการสังเกตการณ์รวมไปถึงปรากฏการณ์บนท้องฟ้าไว้อย่างมากมาย ซึ่งผลงานเหล่านี้ทำให้ทิโคเป็นนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของยุโรป และหอยูเรนิเบิร์กก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในยุโรปตอนเหนือ สมดังพระราชหฤทัยของพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 และของทิโค บราห์ที่ได้ตั้งใจไว้



บันทึกข้อมูลตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า มรดกล้ำค่า
ในปี 1588 พระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 สิ้นพระชนม์ลง พระราชโอรสของพระเจ้าเฟรเดอริคที่ 2 พระนามว่า คริสเตียนที่ 4 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ โดยในเวลาต่อมาประเทศเดนมาร์กได้ประสบปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลให้งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ได้ถูกตัดออกโดยสิ้นเชิง

ในปี 1597 หอดูดาวบนเกาะเว็นได้ถูกปิดลง ทิโคได้ย้ายกลับไปที่โคเปนไฮเกน หลังจากนั้นไม่นาน ทิโคและครอบครัวได้เดินทางออกจากเดนมาร์ก โดยเดินทางไปพำนักชั่วคราวในหลายเมืองของยุโรป เพื่อติดต่อและสืบหาผู้ที่สามารถให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินงานทางด้านดาราศาสตร์ จนกระทั่งในปี 1599 จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งกรุงปราก ประเทศโปฮีเมีย (สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) ได้เสนอที่จะทรงอุปถัมภ์ทิโค โดยพระราชทานปราสาทแห่งหนึ่งที่เมือง Benatky nad Jizerou ห่างจากกรุงปรากประมาณ 50 กิโลเมตร เพื่อให้ทิโคสร้างหอดูดาวขึ้นที่ปราสาทดังกล่าว ทิโคเริ่มงานด้านสังเกตการณ์และบันทึกดวงดาวบนท้องฟ้าอีกครั้ง โดยทิโคได้จัดทำตารางตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้าได้ถึง 777 ดวง จากข้อมูลที่ได้ทำการเก็บบันทึกไว้กว่า 38 ปี ซึ่งตำแหน่งดวงดาวดังกล่าวมีความแม่นยำที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ก่อนที่จะมีการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ ทิโคเรียกตารางดวงดาวดังกล่าวว่า Rudolphine Tables เพื่อเป็นเกียรติแก่จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์

ทิโค บราห์ ถวายคำอธิบายเรื่องแบบจำลองโลกแก่จักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2
ในช่วงต้นปี 1600 ทิโคได้เชิญโยฮันเนส เคปเลอร์นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันให้มาเป็นผู้ช่วยที่หอดูดาว ณ กรุงปราก แต่จากการรวมงานกันเพียง 22 เดือน ทิโคได้เสียชีวิตลง และเคปเลอร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักคณิตศาสตร์ประจำราชสำนักของจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แทนทิโค นอกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว เคปเลอร์ยังได้ครอบครองข้อมูลบันทึกดวงดาวของทิโคที่ทิโคได้ทำการสังเกตและบันทึกไว้ตลอดช่วงชีวิตของทิโค ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีค่ามาก

แบบจำลองจักรวาลของทิโค
จากความคิดของทิโคที่ไม่เห็นด้วยกับแบบจำลองของโคเปอร์นิคัสที่กำหนดให้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล ทำให้ทิโคได้สร้างแบบจำลองขึ้น โดยเรียกว่า Tychonic system ซึ่งแบบจำลองดังกล่าวผสมผสานระหว่างแบบจำลองของปโตเลมีและโคเปอร์นิคัส โดยกำหนดให้โลกเป็นศูนย์กลางและมีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก ในขณะเดียวกันดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวงได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ โดยทิโคให้เหตุผลว่า ดาวดวงใหม่ (ซึ่งเป็นซูเปอร์โนวา) ที่ถูกค้นพบโดยตัวเขาในปี 1572 ไม่ได้อยู่ใกล้โลก นอกจากนี้ ทิโคยังได้โต้แย้งในประเด็นที่ว่า ถ้าโลกมีการเคลื่อนที่ ดังนั้นตำแหน่งของดวงดาวที่อยู่ใกล้โลกควรที่จะต้องมีการเลื่อนไปเมื่อเทียบกับดวงดาวที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งโดยข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลของ พาราแล็ซ (parallex) ซึ่งไม่สามารถสังเกตได้โดยตาเปล่า (ดังที่ทิโคได้ทำการสังเกตไว้ เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์) หรือกระทั่งใช้กล้องโทรทรรศน์ทำการสังเกตการณ์เป็นเวลาร่วม 200 ปี

แบบจำลองของทิโคเป็นที่ยอมรับอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากเป็นแบบจำลองที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับนักดาราศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับแบบจำลองเก่าตามความเชื่อของอริสโตเติลแต่ก็จำเป็นต้องยอมรับแบบจำลองเก่าด้วยความกระอักกระอ่วมใจ นอกจากนี้ทางกรุงโรมเองก็ได้ยอมรับแบบจำลองของทิโคอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นการแข่งขันกันระหว่างแบบจำลองของโคเปอร์นิคัสและแบบจำลองของทิโคที่มีคริสตจักรโรมันเป็นผู้หนุนหลัง

ผลงานวิชาการของทิโค
ผลงานทางวิชาการชิ้นสำคัญของทิโคที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ที่กรุงปราก ในระหว่างปี ค.ศ.1602 – 1603 ได้แก่หนังสือชื่อ Astronomiae Instauratae Progymnas mata หรือที่เรียกว่า Preliminaries for the Restoration of Astronomy โดยหนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 2 ตอน โดยมีเคปเลอร์เป็นผู้ตรวจทาน

ในหนังสือเล่มแรก ทิโคได้กล่าวถึงการหมุนของดวงอาทิตย์ การโคจรของดวงจันทร์และตำแหน่งดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่อยู่กับที่อีก 777 ดวง (ต่อมาเคปเลอร์ได้ค้นพบและเพิ่มเติมรวมทั้งหมดเป็น 1,005 ดวง ในปี ค.ศ.1627 และได้กล่าวไว้ใน Rudolphine Table)

ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 มีชื่อว่า De Mondi Aetheria Recentioribus Phaenomenis ซึ่งกล่าวถึงเรื่องของดาวหางที่เกิดในปี ค.ศ.1577 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่ยูเรนิเบิร์ก เมื่อปี ค.ศ.1588



Astronomiae Instauratae Mechanica เป็นหนังสืออีกเล่มที่ทิโคได้เขียนขึ้น ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์ขึ้นที่เมือง Wandsbeck เมื่อปี ค.ศ.1598 หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการดูดาวที่ทิโคได้สร้างและปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงชีวประวัติของตัวทิโคเอง รวมไปถึงบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เขาค้นพบตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์

ปริศนาการตายของทิโค
จากการบันทึกในสมัยนั้น ได้กล่าวไว้ว่า ทิโคเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1601 หลังจากที่ล้มป่วยกระทันหันเป็นเวลา 11 วัน หลังจากงานเลี้ยงอาหารค่ำที่พระราชวัง โดยในสมัยนั้นถือว่าเป็นการผิดมารยาทอย่างสูง ถ้าออกจากงานเลี้ยงก่อนที่งานเลี้ยงจะสิ้นสุดลง นับเป็นเวลาร่วมหนึ่งร้อยปีที่มีความเชื่อว่าทิโคตายด้วยสาเหตุของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะที่ทำงานหนักเกินไป เนื่องจากจะต้องอยู่ในงานเลี้ยงจนจบงาน ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเคปเลอร์เป็นผู้หนึ่งที่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว

Epistolae Astronomicae ซึ่งพิมพ์ที่เมืองยูเรนิเบิร์ก เมื่อปี ค.ศ.1596 เป็นหนังสือเล่มที่บรรยายถึงผลงานต่าง ๆ ที่ทิโคทำไว้ที่เมืองแฟรงเฟิร์ท ในช่วงปี ค.ศ.1598

หนังสือ Heavenly Intrigue: Johannes Kepler, Tycho Brahe, and the Murder Behind One of History's Greatest Scientific Discoveries เขียนโดย Joshua Gilder และ Anne-Lee Gilder
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนล่าสุดได้มีการพบว่าทิโคไม่ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากปัญหาของระบบปัสสาวะ แต่เป็นการเสียชีวิตลงจากการวางยาพิษ โดยมีการตรวจพบสารปรอทในระดับสูงมากที่ผมและรากผมของทิโค จึงมีข้อสันนิฐานใน 2 แนวทาง โดยแนวทางที่หนึ่งสันนิฐานว่าทิโคอาจจะวางยาตัวเองโดยไม่ตั้งใจ โดยรับประทานยาบางอย่างที่มีการปนเปือนสารปรอท ส่วนแนวทางที่สองนั้น ทิโคถูกลอบวางยาพิษโดยคนอื่น อย่างไรก็ตาม ในหนังสือที่เขียนโดย Joshua Gilder และ Anne-Lee Gilder ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2005 [6] ได้ปรากฏหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่า เคปเลอร์ลอบวางยาพิษเพื่อฆาตกรรมทิโค !!!!! โดยได้ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงเคปเลอร์ผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเสียชีวิตของทิโค ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งในราชสำนักของทิโคและบันทึกข้อมูลดวงดาวอันล้ำค่าของทิโค ในส่วนแนวทางแรกที่สันนิฐานว่าทิโคอาจจะวางยาตัวเองโดยไม่ตั้งใจนั้นแทบจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากทิโคนอกจากจะเชี่ยวชาญเรื่องดาราศาสตร์แล้ว ทิโคยังเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวยงในทางแร่ธาตุต่างๆ รวมไปถึงส่วนประกอบของสารต่างๆ



หลุมฝังศพของทิโค บราห์

ร่างของทิโค บราห์ นักดาราศาสตร์ที่โด่งดังที่สุดในยุคของเขา ได้ถูกฝังไว้ที่วิหาร Church of Our Lady in front of Tyn ซึ่งอยู่ใกล้กับนาฬิกาดวงดาวในกรุงปราก

งานชิ้นสำคัญของทิโคที่ได้พิมพ์ออกมาเผยแพร่ก็ได้แก่หนังสือ Astronomiae Instauratae Progymnas mata หรือที่เรียกว่า Preliminaries for the Restoration of Astronomy หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 2 ตอน และพิมพ์ที่กรุงปร๊าก (Prague) ในระหว่างปี ค.ศ.1602 – 1603 โดยมีเคพเลอร์เป็นผู้ตรวจทาน ในหนังสือเล่มแรกของเขาได้กล่าวถึงการหมุนของดวงอาทิตย์ การโคจรของดวงจันทร์และตำแหน่งดาวฤกษ์ต่าง ๆ ที่อยู่กับที่อีก 777 ดวง (ต่อมาเคพเลอร์ได้ค้นพบและเพิ่มเติมรวมทั้งหมด 1,005 ดวง ในปี ค.ศ.1627 และได้กล่าวไว้ใน Rudolphine Table) ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาชื่อว่า De Mondi Aetheria Recentioribus Phaenomenis ซึ่งกล่าวถึงเรื่องของดาวหางที่เกิดในปี ค.ศ.1577 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ที่ยูเรนิเบิร์ก (Uraniborg) เมื่อปี ค.ศ.1588

หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ทิโคเขียนขึ้นก็คือเครื่อง Astronomiae Instauratae Mechanica ซึ่งตีพิมพ์ที่เมือง Wandsbeck เมื่อปี ค.ศ.1598 หนังสือเล่มนี้บรรยายถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการดูดาวที่เขาสร้างและปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ก็มีชีวประวัติของตัวเขาเองกับบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เขาค้นพบตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งได้แก่เรื่อง Epistolae Astronomicae ซึ่งพิมพ์ที่เมืองยูเรนิเบิร์ก เมื่อปี ค.ศ.1596 หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงผลงานต่าง ๆ ที่ทิโคทำไว้ที่เมืองแฟรงเฟิร์ท (Frankfurt) ในปี ค.ศ.1598 นอกจากนี้ เขายังได้ทำบัญชีดาราศาสตร์สำหรับนักเดินเรือโดยมีเคพเลอร์เป็นผู้ร่วมงานอยู่ด้วย แต่ยังไม่ทันจะเสร็จเขาก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1601 ที่กรุงปร๊าก (Prague) สาธารณรัฐเซ็ก

เอกสารอ้างอิง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น