นักดาราศาสตร์ นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส

นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส





ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 วิถีความคิดของชาวยุโรปในยุคนั้นถูกครอบงำด้วยอิทธิพลทางความคิดของกลุ่มบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคริสตจักรโรมันคาทอลิก และกลุ่มปรัชญาอนุรักษ์นิยมที่เชื่อในความคิดของอริสโตเติล ความเชื่อมโยงระหว่างสองกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อศาสนาจักรได้แต่งตั้งกลุ่มนักบวชเยซูอิตขึ้น เพื่อทำงานด้านปัญหาทางวิทยาศาสตร์และสั่งสอนประชาชนตามที่ศาสนาจักรยอมรับ ซึ่งศาสตร์ทางด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์ที่นักบวชเยซูอิตยอมรับคือสิ่งที่อริสโตเติลได้สอนเอาไว้เมื่อ 1,500 ปีล่วงมาแล้ว ทำให้ความคิดและคำสอนของอริสโตเติลได้ถูกถ่ายทอดผ่านคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลโดยปริยาย

พร้อมกันนี้ศาสนจักรได้ตั้งศาลศาสนาขึ้น เพื่อดำเนินการควบคุมดูแลสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ มิให้แสดงความคิดเห็นขัดกับหลักศาสนา ดังนั้นเมื่อนักดาราศาสตร์ในยุคนั้น อาทิ โคเปอร์นิคัส หรือ กาลิเลโอ ได้ค้นพบสิ่งใดก็ตามที่ไปขัดกับหลักคำสอนของอริสโตเติล หรือถึงขั้นพิสูจน์ได้ว่าคำสอนของอริสโตเติลนั้นผิด จะเป็นการสื่อโดยนัยว่าคัมภีร์ไบเบิลก็ผิดไปด้วย ซึ่งศาสนจักรในยุคนั้นไม่สามารถยอมรับในเรื่องดังกล่าวได้ โดยเฉพาะกาลิเลโอนั้นได้เผชิญวิบากกรรมเป็นอย่างมาก จากการที่ได้เผยแพร่ผลการทดลอง หรือกระทั่งความคิดเห็นทางด้านดาราศาสตร์ที่ขัดกับหลักคำสอนของอริสโตเติล

แบบจำลองจักรวาลที่มีโลกเป็นศูนย์กลางตามความคิดของอริสโตเติล และปโตเลมี เป็นประเด็นหลักของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยโคเปอร์นิคัสเป็นผู้พิสูจน์ว่าความเชื่อดังกล่าวผิด โดยแท้ที่จริงแล้ว ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล

วัยเยาว์
นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1473 ที่เมืองโตรัน (Torun) ประเทศโปแลนด์ ครอบครัวของโคเปอร์นิคัสค่อนข้างมีฐานะร่ำรวย แต่บิดาของโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลงเมื่อโคเปอร์นิคัสอายุได้เพียง 10 ขวบ จากนั้นเป็นต้นมา ลุงของโคเปอร์นิคัสซึ่งเป็นบิชอป (ตำแหน่งพระในศาสนาศริสต์) ได้เข้ามาดูแลและอุปการะเลี้ยงดู เนื่องจากลุงเป็นผู้ที่มีความรู้จึงได้อบรมสั่งสอนและให้แนวทางการศึกษาแก่โคเปอร์นิคัส ทำให้โคเปอร์นิคัสได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านศาสนาไปด้วย นอกจากนี้ ลุงของโคเปอร์นิคัสยังได้ตั้งใจที่จะให้โคเปอร์นิคัสดำเนินวิถีชีวิตเป็นนักบวชของศาสนาคริสต์อีกด้วย

โคเปอร์นิคัสค้นหาตัวตนในมหาวิทยาลัย
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โคเปอร์นิคัสได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยกราโกว การเรียน ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทำให้
โคเปอร์นิคัสชอบเรื่องดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามหลังจากศึกษาที่มหาวิทยาลัยกราโกวเป็นเวลา 4 ปี โคเปอร์นิคัสได้
เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโบโลญา และมหาวิทยาลัยปาดัว ประเทศอิตาลี

ในระหว่างที่ศึกษาด้านปรัชญาและกฎหมายอยู่ที่มหาวิทยาลัยโบโลญา โคเปอร์นิคัสได้พบนักดาราศาสตร์ผู้โด่งดังในยุคนั้น ชื่อ
"โนวารา" (Domenico Maria Novara da Ferrara) ผู้ซึ่งสอนวิชาดาราศาสตร์ โดยโคเปอร์นิคัสได้เข้าเรียนวิชาดังกล่าว และต่อมาได้กลายมาเป็น
ผู้ช่วยของโนวารา

ในปี 1497 โคเปอร์นิคัสอายุได้ 24 ปี ลุงของได้ทำการแต่งตั้งให้โคเปอร์นิคัสเป็นพระที่วิหารฟราวเอนเบิร์กในประเทศโปแลนด์ แต่ในขณะนั้นโคเปอร์นิคัสยังคงศึกษาอยู่ในอิตาลี และรอคอยการครอบรอบของปี ค.ศ. 1500 โดยในปีนั้น (ค.ศ. 1500 ) โคเปอร์นิคัสได้เดินทางไปยังกรุงโรมเพื่อสังเกตปรากฏการณ์จันทรุปราคา จากนั้นได้เดินทางกลับไปที่วิหารเฟรินบูร์ก ประเทศโปแลนด์ ในปี 1501 ทันทีที่กลับถึงโปแลนด์ โคเปอร์นิคัสขอ
อนุญาตลุงเดินทางกลับไปยังมหาวิทยาลัยปาดัว ประเทศอิตาลีอีกครั้ง เพื่อกลับไปเรียนวิชาการแพทย์และโหราแพทย์ให้จบ นอกจากนี้ ในปี 1503
โคเปอร์นิคัสยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายศาสนา ที่ เฟอร์รารา

ดำเนินวิถีชีวิตตามความปราถนาของลุง
เมื่อสำเร็จการศึกษาทั้งด้านการแพทย์และกฎหมายแล้ว โคเปอร์นิคัสเดินทางกลับมาที่โปแลนด์ เพื่อทำงานเป็นทั้งนักบวชและแพทย์ที่เมืองฟราวเอนเบิร์ก ตามความปราถนาของลุง แต่ในปี 1512 ลุงของโคเปอร์นิคัสได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้โคเปอร์นิคัสเริ่มอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการศึกษาและค้นคว้าด้านดาราศาสตร์ ซึ่งโคเปอร์นิคัสสนใจเป็นอย่างมาก

บุรุษผู้มีศรัทธาในศาสนา แต่ขัดแย้งในความเชื่อ
ในระหว่างที่ศึกษาที่กราโกว และมหาวิทยาลัยในอิตาลี โคเปอร์นิคัสได้ตั้งข้อสงสัยในความเชื่อที่สอนโดยอริสโตเติลและปโตเลมี ในประเด็นที่โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล โดยโคเปอร์นิคัสมีความสงสัยว่า เหตุใดพระเจ้าจึงทรงสร้างระบบจักรวาลที่มีความซับซ้อน ดังที่ปโตเลมีได้อธิบายไว้ในแบบจำลอง Ptolemy system ด้วยเหตุนี้ โคเปอร์นิคัสจึงตั้งสมมติฐานว่า ดาวเคราะห์ทั้งหมดน่าจะหมุนรอบดวงอาทิตย์ พร้อมกับทุ่มเททำการค้นคว้าศึกษาในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ และเมื่อกลับสู่โปแลนด์ เพื่อเข้ารับตำแหน่งนักบวชที่วิหารฟราวเอนเบิร์ก โคเปอร์นิคัสได้ค้นคว้าเรื่องดังกล่าว
อย่างต่อเนื่อง

ความคิดเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้น โคเปอร์นิคัสไม่ไช่บุคคลแรกที่นำเสนอ แต่เป็นนักปราชญ์กรีกโบราณชื่อว่า อริสตาร์คัส แห่งซามอส (Aristarchus of Samos) เป็นผู้นำเสนอ ในช่วงระหว่าง 310 ปี ถึง 230 ปี ก่อนคริสต์กาล โดย อริสตาร์คัสกล่าวไว้ว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล โดยมีโลก และดาวเคราะห์อื่น ๆ โคจรไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ ซึ่งโคเปอร์นิคัสเชื่อในแนวความคิดนี้มากกว่า

โคเปอร์นิคัสดำเนินการค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างทุ่มเทในช่วงปี 1510 ถึง 1514 โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ดวงอาทิตย์อยู่กับที่ ณ ศูนย์กลางวงโคจรของดาวเคราะห์ โดยที่โลกใช้เวลา 1 ปีในการหมุนรอบดวงอาทิตย์ จากผลที่ได้โคเปอร์นิคัสได้ร่างหนังสือ 1 เล่ม ชื่อ Commentariolus ด้วยลายมือของเขาเอง ซึ่งอธิบายหลักการเบื้องต้นของทฤษฎีจักรวาลตามการสังเกตดวงดาวของโคเปอร์นิคัส นอกจากนี้ โคเปอร์นิคัสยังได้นำเสนอความคิดว่า โลกมีการหมุนรอบตัวเอง โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อเดิมที่เชื่อว่าโลกอยู่นิ่งกับที่ รวมไปถึงสาเหตุที่ทำให้นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นดาวเคราะห์บางดวงโคจรย้อนทางเดิมในบางเวลา ซึ่งกล่าวได้ว่าโคเปอร์นิคัสเป็นบุคคลแรกที่อธิบายปรากฏการณ์ "retrograde"

หนังสือเล่มดังกล่าว ไม่ได้มีการระบุชื่อผู้เขียน แต่ผู้อ่านทราบดีว่าโคเปอร์นิคัสเป็นผู้เขียนและเรียบเรียงขึ้น โดยมีการส่งเวียนอ่านในหมู่มิตรสหายนั้น จึงไม่มีผู้ใดทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงว่า เพราะเหตุใด โคเปอร์นิคัสจึงไม่ยอมตีพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า
"แท้ที่จริงแล้ว เหตุผลสำคัญที่โคเปอร์นิคัสไม่ยอมตีพิมพ์ผลงานดังกล่าว ก็เนื่องจากว่า ผลงานการค้นพบจะไปขัดแย้งกับคัมภีร์ไบเบิล"

ผลงานชิ้นสำคัญในช่วง 30 ปีสุดท้าย
หลังจากเขียน Commentariolus แล้ว โคเปอร์นิคัสยังคงทำงานตามแนวคิดของตนเองที่ได้ตั้งไว้ จนเวลาล่วงไปอีกร่วม 20 ปี (ค.ศ. 1534) ผลงานขั้นสุดท้ายใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ แต่โคเปอร์นิคัสก็ยังไม่ยอมที่จะตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะตามคำร้องขอของมิตรสหาย อย่างไรก็ตาม ข้อความภายในหนังสือ Commentariolus ได้มีการกล่าวถึงไปทั่วทั้งยุโรป เชื่อกันว่าแม้แต่พระสันตปาปาเองก็น่าที่จะทราบอยู่บ้าง แต่ทรงไม่ดำเนินการใดๆ เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน อีกทั้งโคเปอร์นิคัสก็ยังมิได้ตีพิมพ์เผยแพร่ทฤษฏีดังกล่าว

ในปี ค.ศ. 1539 นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ จอร์จ โจชิม รีติคัส (George Joachim Rhaticus) แห่งมหาวิทยาลัยวิทเทนเบิร์ก เยอรมนี (University of Wittenberg Germany) ได้ทำงานค้นคว้าร่วมกับโคเปอร์นิคัสเป็นเวลา 2 ปี โดยรีติคัสได้สนับสนุนให้
โคเปอร์นิคัสตีพิมพ์เผยแพร่ทฤษฎีใหม่เผยแพร่แก่ประชาชน แต่โคเปอร์นิคัสก็ไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆ เพราะทราบดีว่าสิ่งที่ค้นพบเป็นเรื่องที่ขัดกับคัมภีร์ไบเบิล แต่สุดท้ายแล้ว
โคเปอร์นิคัสทนความรบเร้าของรีติคัสไม่ได้ จึงได้เรียบเรียงทฤษฏีของเขาขึ้นเป็นหนังสือ โดยมีชื่อว่า "De Revolutionibus"

โคเปอร์นิคัสขอให้รีติคัสนำต้นฉบับหนังสือของเขาไปพิมพ์ที่ประเทศเยอรมนี แต่คนพิมพ์ ชื่อ แอนเดรียส์ ออสเซียนเดอร์ (Andreas Osiander) อ่านต้นฉบับดูแล้ว เกรงว่าเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับศาสนาจักร ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "De Revolutionibus Orbium Coelestium" (On the Revolutions of the Celestial Sphere) โดยพิมพ์ออกเผยแพร่ในเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1543 ก่อนหน้าโคเปอร์นิคัสจะเสียชีวิตลงเพียง 2 เดือน (โคเปอร์นิคัสถึงแก่กรรมลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1543)

โดยในการพิมพ์ครั้งแรกนั้น ออสเซียนเดอร์ได้ทำการเปลี่ยนหน้าคำนำ โดย
ออสเซียนเดอร์ได้ดึงหน้าคำนำของโคเปอร์นิคัสออกแล้วเขียนขึ้นใหม่ โดยมีข้อความเตือนผู้อ่านว่าไม่ควรคาดหวังอะไรก็ตามจากดาราศาสตร์และไม่ควรยอมรับว่าสมมุติฐานนั้นจะเป็นความจริง สิ่งที่น่าละลายคือออสเซียนเดอร์ไม่ได่ระบุชื่อตัวเองว่าเป็นผู้แต่งหน้าคำนำนั้น ซึ่งการทำเช่นนี้ เสมือนได้ว่าจิตวิญญาณของโคเปอร์นิคัสได้ถูกบิดเบื้อนไป อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้วิเคราะห์ถึงสาเหตุดังกล่าวว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ที่ออสเซียนเดอร์ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบหรือความขัดแย้งใดๆ อันจะเป็นผลเนื่องมาจากหนังสือเล่มนี้

หนังสือที่พิมพ์เสร็จแล้ว ได้ถูกนำส่งไปให้โคเปอร์นิคัส แต่นับว่าเป็นเรื่องโชคดีที่โคเปอร์นิคัสไม่ได้เห็นสิ่งที่ออสเซียนเดอร์ได้ทำไว้
โดยโคเปอร์นิคัสได้สิ้นลมไปก่อนที่หนังสือจะถูกส่งมาถึงเขา

ในหนังสือเล่มนี้โคเปอร์นิคัสได้อธิบายหลักคิดและการทดลองทางดาราศาสตร์ของเขา โดยมีรูปดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยจักรวาล พร้อมกับมีโลกและดาวเคราะห์หมุนรอบดวงอาทิตย์ นอกจากนี้โคเปอร์นิคัสยังได้พิสูจน์ให้เห็นว่าโลกกลม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางอย่างที่โคเปอร์นิคัสกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ อาทิเช่น โคเปอร์นิคัสระบุว่าวงโคจรของดาวเคราะห์ทุกดวงมีลักษณะเป็นวงกลม โดยแท้จริงแล้ว โจฮันเนส เคปเลอร์ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้พิสูจน์ในภายหลังว่า วงโคจรดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี



ความสำคัญของหนังสือ "De Revolutionibus"
ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ที่มีต่อวิวัฒนาการทางดาราศาสตร์ ได้เริ่มจาก ทีโค บราห์ นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก และ กาลิเลโอ
นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาลี รวมไปถึง โจฮันเนส เคปเลอร์ (ทั้งสามคนเป็นนักดาราศาสตร์ในยุคที่ต่อเนื่องจากโคเปอร์นิคัส ภายในระยะเวลา 30 ปี นับจากโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตลง) โดยทั้งสามคน ต่างได้อ่านหนังสือของโคเปอร์นิคัส และสนับสนุนแนวความคิดของโคเปอร์นิคัส นอกจากนี้
แนวความคิดของโคเปอร์นิคัสยังเป็นแนวทางให้ไอแซค นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษ ได้ค้นพบและสร้างกฎแรงโน้มถ่วงโลกในอีก 150 ปีต่อมา

หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1566 ศาสนจักรได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อความศรัทธาและความเชื่อที่มีต่อศาสนา จึงนำไปสู่การห้ามเผยแพร่หนังสือของโคเปอร์นิคัส ในปี ค.ศ. 1616 โดยการห้ามดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานร่วม 200 ปีเศษ จนกระทั่งปี
ค.ศ. 1835 ศาสนจักรจึงได้ยกเลิกคำห้ามดังกล่าว อย่างไรก็ตามในระหว่างช่วงเวลาการห้ามเผยแพร่ ระบบสุริยจักรวาลของโคเปอร์นิคัสได้รับการ
ยอมรับอย่างกว้างขวางจากผู้คนส่วนใหญ่ไปแล้ว



ความสามารถด้านอื่น
โคเปอร์นิคัสไม่ใช่ผู้ที่มีแต่ความสามารถทางด้านดาราศาสตร์และด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เขายังได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และรัฐบุรุษคนสำคัญของโปแลนด์อีกด้วย ทั้งนี้เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้ประเทศโปแลนด์รอดพ้นจากวิกฤตด้านเงินตราได้ โดยในเวลานั้นโปแลนด์ประกอบด้วยรัฐต่างๆ หลายรัฐ ซึ่งรัฐบาลกลางไม่มีระบบการเงินที่แน่นอน ทำให้หลังจากเกิดสงครามแล้ว ประเทศโปแลนด์ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อีกทั้งได้มีการปลอมแปลงเงินขึ้นด้วย ยิ่งส่งผลให้เกิดความยุ่งยากขึ้น ประชาชนต่างก็มุ่งแต่เก็บเฉพาะเงินดีไว้หมดทำให้เกิดภาวะเงินฝืด
โคเปอร์นิคัสเสนอให้ทุกๆ รัฐใช้ระบบเงินตราเดียวกัน โดยให้รัฐบาลกลางเก็บเงินเหรียญต่างๆ เสีย แล้วนำเอาเหรียญใหม่ที่เป็นระบบเดียวกันออกใช้ ความคิดดังกล่าวครั้งแรกใช้ไม่ได้ผล แต่ต่อมานิวตันได้นำเอาไปใช้ในประเทศอังกฤษ กลับได้ผลลัพธ์ดีมาก จึงทำให้ชื่อเสียงของโคเปอร์นิคัสพลอยโด่งดังไปด้วย

เอกสารอ้างอิง
    [1] Owen Gingerich, The Eye of Heaven, Ptolemy, Copernicus, Kepler, AIP, 1993.
    [2] สุทัศน์ ยกส้าน, “อัจฉริยะนักวิทย์”, สำนักพิมพ์สารคดี, 2548
    [3] http://www-gap.dcs.st-and.ac.uk/~history/Biographies/Copernicus.html
    [4] http://www.hps.cam.ac.uk/starry/copernicus.html
    [5] http://www.newadvent.org/cathen/04352b.htm
    [6] จารนัย พานิชกุล (ผู้แปล), Jon Balchin (ผู้เขียน), “สุดยอดอัจฉริยะ 100 นักวิทยาศาสตร์ผู้เปลี่ยนแปลงโลก” (100 Scientists Who Changed the World), สำนักพิมพ์ปาเจรา, 2549
    [7] ทวี มุขธระโกษา, “นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก”, สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์, 2548
    [8] Owen Gingerich, The Book Nobody Read: Chasing the Revolutions of Nicolaus Copernicus, Penguin, 2005.



1 ความคิดเห็น:

  1. การค้นพบของนิโคเลาส์ มันขัดแย้งกับพระคัมภีร์ตรงไหนครับ ขัดแย้งเรื่องอะไร เรื่องดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง และเรื่องโลกหมุนรอบตัวเองหรือครับ และในพระคัมภีร์บอกว่าอะไร

    ตอบลบ